ลิ้งค์เชื่อมต่อ

สตรีที่ปลูกถ่ายใบหน้าคนแรกของสหรัฐฯ เสียชีวิตด้วยวัย 57 ปี


FILE - Connie Culp, who underwent the first face transplant surgery in the U.S., talks to a reporter at the Cleveland Clinic, Sept. 14, 2010, in Cleveland. Culp died July 29, 2020, of complications from an infection unrelated to her transplant.
FILE - Connie Culp, who underwent the first face transplant surgery in the U.S., talks to a reporter at the Cleveland Clinic, Sept. 14, 2010, in Cleveland. Culp died July 29, 2020, of complications from an infection unrelated to her transplant.

คอนนี่ คัลป์ (Connie Culp) คนไข้รายแรกที่ทำการผ่าตัดปลูกถ่ายใบหน้าในประเทศสหรัฐฯ เสียชีวิตด้วยวัย 57 ปี โดยเธอคือคนไข้รายที่ 4 ของโลกที่ผ่านกระบวนการปลูกถ่ายใบหน้า และยังถือว่าเป็นคนที่อายุยืนที่สุดจากกลุ่มคนไข้ที่เคยผ่านการผ่าตัดรูปแบบนี้

เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บัญชีผู้ใช้งาน Cleveland Clinic สถาบันด้านผิวหนังและศัลยกรรมพลาสติกได้ทวีตข้อความแสดงความเสียใจเกี่ยวกับการจากไปของ Connie Culp และกล่าวยกย่องว่า “เธอคือแรงบันดาลใจสำหรับเราทุกคน” ทางด้านนายแพทย์ แฟรงค์ พาเพย์ (Frank Papay) ประธาน Cleveland Clinic และเป็นแพทย์ผู้เข้าร่วมทีมผ่าตัดให้กับ คัลป์ กล่าวในทวีตเดียวกันนี้ว่า “เธอคือบุคคลสำคัญที่ทำการบุกเบิกและการที่เธอตัดสินใจยอมรับกระบวนการผ่าตัดที่น่าหวาดกลัว ความรู้ต่างๆ เหล่านี้คือของขวัญที่เธอมอบให้กับมวลมนุษยชาติ”

ในปี พ.ศ.2547 คัลป์ ซึ่งขณะนั้นเป็นคุณแม่ลูกสอง ได้ถูกอดีตสามีทำร้ายโดยการยิงปืนเข้าที่กลางใบหน้า ทำให้เธอต้องสูญเสียการมองเห็นบางส่วน ไม่สามารถรับรู้กลิ่น ความเสียหายครั้งนี้ยังทำให้เธอไม่สามารถพูดสื่อสาร ทีมแพทย์จึงต้องทำการผ่าตัดเปิดลำคอเพื่อให้เธอหายใจได้

หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2551 เธอตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดปลูกถ่ายใบหน้า โดยได้รับอวัยวะจากการบริจาคของผู้เสียชีวิต ทางด้านแพทย์หญิง มาเรีย ซีมิโอนอฟ (Maria Siemionow) คือแพทย์ที่นำทีมผ่าตัดปลูกถ่ายครั้งที่ยาวนานราว 23 ชั่วโมง ซึ่งเป็นนับเป็นครั้งแรกของการปลูกถ่ายแบบเกือบ 100% ทีมแพทย์จะต้องเชื่อมต่อเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อ เส้นเลือด รวมถึงเส้นประสาทของคนไข้เข้ากับใบหน้าใหม่ โดยก่อนหน้านี้ คัลป์ เคยเข้ารับการผ่าตัด 2 ครั้ง ที่ประเทศฝรั่งเศสและอีก 1 ครั้ง ในประเทศจีน

การผ่าตัดที่ไม่ใช่เพื่อความงาม แต่เพื่อให้ คัลป์ สามารถกลับมามีชีวิตได้ใกล้เคียงกับคำว่าปกติมากที่สุด ซึ่ง Culp จะต้องผ่านการตรวจวัดทางด้านจิตวิทยา โดยเฉพาะกับคำถามที่ว่าเธอจะรู้สึกอย่างไรในการที่ต้องใช้ชีวิต ภายใต้ใบหน้าของผู้อื่นที่เสียชีวิตไปแล้ว

นอกจากการผ่าตัดครั้งใหญ่แล้ว ยังตามมาด้วยการผ่าตัดแก้ไขอีกเกือบ 40 ครั้ง โดยหลังกระบวนการรักษา ผู้ป่วย สามารถกลับมาได้กลิ่น อีกทั้งเธอยังทานอาหารที่เป็นปกติได้มากขึ้น

ไม่กี่ปีถัดมา พ.ศ.2553 คัลป์ มีโอกาสเดินทางไปขอบคุณครอบครัวผู้ที่บริจาคอวัยวะใบหน้าให้กับเธอ โดย รอน แคสเปอร์ (Ron Kasper) สามีของผู้เสียชีวิตกล่าวว่า “นี่คงตรงกับเจตนารมณ์ของ แอนนา ภรรยาที่เสียชีวิตไปแล้ว”

ทั้งนี้ ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของการเสียชีวิตของคัลป์ แต่ตัวแทนของ Cleveland Clinic ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ แต่การติดเชื้อนี้ไม่ได้มาจากการผ่าตัดปลูกถ่ายใบหน้า

คัลป์ ใช้เวลาในชีวิตของเธอเพื่อเป็นตัวแทนสนับสนุนให้คนทำการบริจาคอวัยวะ รวมทั้งการพูดในที่สาธารณะเกี่ยวกับประสบการณ์ชีวิตของเธอ ครั้งหนึ่งเธอเคยให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์อย่าง Good Morning America ทางสถานี ABC ว่า “เธอได้ให้อภัยอดีตสามีกับสิ่งที่เขาทำในวันนั้น เธอไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากให้อภัย”

ในงานแถลงข่าวเกี่ยวกับผลลัพธ์การปลูกถ่ายใบหน้าในปี พ.ศ.2552 คัลป์ ได้กล่าวเรียกร้องให้คนในสังคม แสดงความเมตตาต่อผู้ที่มีใบหน้าที่เสียโฉม เธอกล่าวว่า “อย่าได้ตัดสินคนที่เขาดูแตกต่างจากคุณ...เพราะคุณไม่มีวันรู้เลย หากว่าวันหนึ่งสิ่งนี้ (ความปกติ) อาจจะถูกกระชากไปจากชีวิตของคุณ”

XS
SM
MD
LG