Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความประกอบการอภิปรายในงานสัมมนาเนื่องในวันแรงงานสากลและวันแรงงาน แห่งชาติประจำปี 2559 (วันที่ 1 พฤษภาคม 2559) เรื่อง “ขบวนการแรงงานไทยกับการยกระดับมาตรฐานแรงงานในประชาคมอาเซียน” วันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2559 ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์นิคม จันทรวิทุร ตึกเอนกประสงค์ 1 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) จัดโดย มูลนิธินิคม จันทรวิทุร สถาบันทรัพยากรมนุษย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาวิชานโยบายสังคม คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิไพศาล ธวัชชัยนันท์

 

ที่มา กระทรวงแรงงาน ใส่ลิงก์  http://www.mol.go.th

 

นับจากการเปิดตัวประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา เราควรจะพบกับความกระตือรือร้นของรัฐบาลและประชาชนในการร่วมกันเฉลิมฉลอง สรรค์สร้าง และขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนให้บรรลุวัตถุประสงค์กันอย่างจริงจัง แต่สิ่งที่ปรากฏขึ้นกลับเป็นความไม่มีชีวิตชีวาเท่าที่ควร ทั้งการแสดงออกโดยภาครัฐและประชาชนในการเริ่มต้นประชาคมอาเซียนที่รอคอย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ปัญหานี้ส่วนหนึ่งย่อมเนื่องมาจากการเป็นรัฐกลวง (Hollow State) จากผลพวงของการรัฐประหารในขณะนี้เป็นอุปสรรคด้วย แต่เราไม่ควรจะปล่อยให้บรรยากาศเช่นนี้มีอยู่ต่อไป ขบวนการแรงงานไทยในฐานะจักรกลสำคัญจำเป็นต้องตื่นตัวและแสวงหาหนทางในการกระทำอันประเสริฐเพื่อคนจำนวนมหาศาลและให้มีความก้าวหน้ากว่ารัฐ (รัฐบาลและกลไกรัฐ)

ในฐานะที่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นนโยบายหรือประเด็นสาธารณะที่รัฐบาลทุกรัฐบาลของสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ (ในปัจจุบัน) ให้ความสำคัญโดยปริยาย และหากพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียนทั้ง 15 ประการ (ดังจะระบุถึงต่อไป) แล้ว การดำเนินการตามวัตถุประสงค์เหล่านั้นก็คือนัยของการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนอาเซียนอย่างสำคัญ โดยการพัฒนาประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหลายทั้งสามหลัก คือ 1) การเมืองและความมั่นคง 2) เศรษฐกิจ และ 3) สังคมและวัฒนธรรม ร่วมกันนั่นเอง ฉะนั้น ในโอกาสที่การเปิดการค้าเสรีในกลุ่มประเทศประชาคมอาเซียนที่ได้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 แล้วนั้น ทุกประเทศสมาชิกจึงย่อมหาทางสรรค์สร้างมาตรการต่างๆ ที่เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนของตน สำหรับประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลไทยย่อมต้องดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนของตนภายใต้วัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียนในทุกข้อ แต่ในขณะเดียวกันในฐานะประเทศสมาชิกที่มีคุณภาพ รัฐบาลไทยในฐานะตัวแทนของประเทศในภาพรวมก็สมควรดำเนินการในสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ร่วมของประชนหรือพลเมืองอาเซียนพร้อมกันไปด้วย

กอรปกับวันแรงงานสากลและวันแรงงานแห่งชาติบรรจบมาอีกคำรบหนึ่งในวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 ที่จะมาถึง บทความชิ้นนี้จึงมุ่งหวังจะร่วมฉลองวันดังสำคัญกล่าวร่วมกันไปกับการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของประชาคมอาเซียน ด้วยการนำเสนอประเด็นและสาระสำคัญของมาตรฐานแรงงานที่สมควรพิจารณาใช้ร่วมกันในประชาคมอาเซียน (ซึ่งมีประชากรร่วม 650 ล้านคน และมีกำลังแรงงานไม่น้อยกว่า 400 ล้านคน) รวมถึงข้อพิจารณาสำคัญถึงบทบาทของขบวนการแรงงาน และรัฐ (รัฐบาลและกลไกของรัฐ) ในการยกระดับมาตรฐานแรงงานอาเซียนด้วย ฉะนั้น ภายใต้บริบทของการค้าระหว่างประเทศ และมาตรฐานแรงงานกับการค้า อันเป็นเสมือนการจูบปากกันระหว่างลัทธิทุนนิยมกับลัทธิสหภาพแรงงานนั้น (ดูประกอบ โชคชัย สุทธาเวศ 2547) คำถามที่สมควรค้นหาคำตอบเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ของบทความดังกล่าวก็คือ มาตรฐานแรงงานสำหรับประชาคมอาเซียนควรมีประเด็นใดบ้างและมีสาระสำคัญๆ ว่าอย่างไร และบทบาทของขบวนการแรงงานและรัฐบาลไทยในการยกระดับมาตรฐานแรงงานอาเซียนควรเป็นเช่นไรจึงจะทำให้มาตรฐานแรงงานอาเซียนเป็นที่นิยมของประเทศสมาชิกและประชาคมโลก

ในมิติกำลังแรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่และสำคัญยิ่งของประชาชนอาเซียนนั้น ประเทศไทย นอกจากต้องเตรียมความพร้อมในการบริหารแรงงานของตนรองรับประชาคมอาเซียนแล้ว เราต้องดำเนินการเพื่อพัฒนามาตรฐานแรงงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าหรือในระบบเศรษฐกิจสำหรับอาเซียนอีกด้วย เพื่อเป็นวิถีวัฒนธรรมการทำงานแบบหนึ่งที่จะส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบและยั่งยืน สอดคล้องกับกระแสการให้ความสำคัญของสังคมโลก

มาตรฐานแรงงานอาเซียนในอนาคตสามารถเป็นมาตรฐานของวัฒนธรรมการทำงานร่วม ซึ่งแต่เดิมประเทศสมาชิกเคยมีกฎหมายหรือระเบียบข้อบังคับการคุ้มครองแรงงานเป็นของตนเอง มาเป็นการอยู่ภายใต้วัฒนธรรมมาตรฐานแรงงานอาเซียนเดียวกัน ทั้งนี้ประเทศไทยในฐานะผู้ริเริ่มมาตรฐานแรงงานอาเซียน จึงต้องผลักดันการขับเคลื่อนเพื่อให้มาตรฐานแรงงานอาเซียนเกิดขึ้นจริงได้ ทั้งนี้ย่อมต้องอาศัยการสนับสนุนของประเทศสมาชิกที่เป็นพันธมิตรสองถึงสามประเทศในเบื้องแรก

กระบวนการทำงานตามกลไกต่างๆ ของประชาคมอาเซียนที่สร้างสรรค์ กล้าหาญ และแข็งขัน   ในการผลักดันเรื่องนี้ร่วมกับองค์การของผู้ประกอบการ แรงงาน และองค์การอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจจะทำให้มาตรฐานแรงงานอาเซียนในทางการค้าในอนาคตได้รับการตกลงจากประเทศสมาชิกที่จะมีและปฏิบัติร่วมกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนก็ได้ เพื่อให้โอกาสสมาชิกได้มีเวลาปรับตัวอย่างมีเป้าหมายเชิงระยะเวลา มิใช่อย่างปราศจากกรอบเวลา 

 

ภาพโดย พิกุลทิพย์ ยุระพันธุ์

 

ทั้งนี้ ร่างมาตรฐานแรงงานที่จะนำเสนอถัดไป เป็นร่างมาตรฐานแรงงานต้นแบบสำหรับการค้าที่สมควรพิจารณาใช้สำหรับประชาคมอาเซียนร่วมกัน มีสาระดังต่อไปนี้

 

(ร่าง) มาตรฐานแรงงานอาเซียน- 2558 [1]

(ASEAN Labour Standard – 2015)

1. บทนำ (Introduction)

ใน โอกาสที่ประชาคมอาเซียนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ประเทศสมาชิกย่อมมีพันธผูกพันร่วมกันที่จะผลักดันให้ประชาคมอาเซียนบรรลุ วัตถุประสงค์หลักที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน (The ASEAN Charter) ทั้ง 15 ประการ คือ [2]

(1) เพื่อธำรงรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง และเสถียรภาพ กับทั้งเสริมสร้างคุณค่าทางสันติภาพในภูมิภาคให้มากขึ้น

(2) เพื่อเพิ่มความสามารถในการปรับตัวสู่สภาวะปกติของภูมิภาคโดยการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

(3) เพื่อธำรงรักษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และปราศจากอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงอื่นๆ ทุกชนิด

(4) เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนและรัฐสมาชิกของอาเซียนอยู่ร่วมกับประชาคมโลกได้โดยสันติในสภาวะที่เป็นธรรม มีประชาธิปไตยและมีความสมานสามัคคี

(5) เพื่อสร้างตลาดและฐานการผลิตเดียวที่มีเสถียรภาพ ความมั่งคั่ง มีความสามารถในการแข่งขันสูง และมีการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจซึ่งมีการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลง ทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการเคลื่อนย้ายอย่างเสรีของสินค้า บริการ และการลงทุน การเคลื่อนย้ายที่ได้รับความสะดวกของนักธุรกิจ ผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้มีความสามารถพิเศษและแรงงาน และการเคลื่อนย้ายอย่างเสรียิ่งขึ้นของเงินทุน

(6) เพื่อบรรเทาความยากจน และลดช่องว่างการพัฒนาในอาเซียนผ่านความช่วยเหลือซึ่งกันและกันและความร่วมมือ

(7) เพื่อเสริมสร้างประชาธิปไตย เพิ่มพูนธรรมาภิบาล และหลักนิติธรรม ตลอดจนส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยคำนึงถึงสิทธิและหน้าที่ของรัฐสมาชิกของอาเซียน

(8) เพื่อเผชิญหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตามหลักความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ ต่อสิ่งท้าทายทุกรูปแบบ อาชญากรรมข้ามชาติ และสิ่งท้าทายข้ามพรมแดนอื่นๆ

(9) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อทำให้แน่ใจว่ามีการคุ้มครองสภาพแวดล้อมในภูมิภาค ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติในภูมิภาค การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในภูมิภาค และคุณภาพชีวิต ที่ดีของประชาชนในภูมิภาค

(10) เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยผ่านความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้น ในเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเสริมสร้างพลังประชาชนและเสริมสร้างความเข้มแข็งแห่งประชาคมอาเซียน

(11) เพื่อเพิ่มพูนความอยู่ดีกินดีและการดำรงชีวิตของประชาชนอาเซียน ด้วยการให้ประชาชนมีโอกาสที่ทัดเทียมกันในการเข้าถึงการพัฒนามนุษย์ สวัสดิการสังคม และความยุติธรรม

(12) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย มั่นคง และปราศจากยาเสพติดสำหรับประชาชนของอาเซียน

(13) เพื่อส่งเสริมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมได้รับการส่งเสริมให้มีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์จากกระบวนการรวมตัวและการสร้างประชาคมของอาเซียน

(14) เพื่อส่งเสริมอัตลักษณ์ของอาเซียนด้วยการส่งเสริมความสำนึกถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมและมรดกของภูมิภาคยิ่งขึ้น

(15) เพื่อธำรงไว้ซึ่งความเป็นศูนย์รวมและบทบาทเชิงรุกของอาเซียนในฐานะพลังขับเคลื่อนขั้นแรกของความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาค ในภาพแบบของภูมิภาคที่เปิดกว้าง โปร่งใส และไม่ปิดกั้น

ความ สำเร็จตามวัตถุประสงค์หลักข้างต้นเพื่อพลเมืองอาเซียนนั้น ประการหนึ่งย่อมอาศัยการมีมาตรฐานแรงงานอาเซียนที่ตกลงใช้ร่วมกันในบรรดา ประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุน และจะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากขึ้นก็เมื่อสมาชิกอาเซียนได้พยายามดำเนินการ ภารกิจตามวัตถุประสงค์ต่างๆที่จะทำให้แต่ละข้อวัตถุประสงค์เติมเต็มต่อกัน และกัน และเกิดผลสำเร็จโดยรวม

2. วัตถุประสงค์ของมาตรฐานแรงงานอาเซียน (Purposes of ASEAN Labour Standard)

(1) เป็นกติกาเพื่อสนับสนุนการบรรลุถึงวัตถุประสงค์หลักของประชาคมอาเซียนตามกฎบัตรอาเซียน

(2) ให้สถานประกอบกิจการในอาเซียนใช้เป็นแนวทางปฏิบัติต่อแรงงานโดยนำสาระแห่งมาตรฐานนี้ไปกำหนดเป็นนโยบายและมีการจัดการให้เป็นไปตามนโยบาย

(3) เป็นเกณฑ์ให้สถานประกอบกิจการในอาเซียนใช้ในการปรับปรุงการจัดการด้านแรงงาน การตรวจสอบและประกาศแสดงตนเองว่าเป็นสถานประกอบกิจการที่ปฏิบัติสอดคล้องกับมาตรฐานนี้

4) เป็นเกณฑ์พิจารณาให้การส่งเสริมและรับรองแก่สถานประกอบกิจการในอาเซียนที่นำมาตรฐานนี้ไปปฏิบัติ

3. หลักการของมาตรฐานแรงงานอาเซียน (Principles of The ASEAN)

มาตรฐาน แรงงานอาเซียนจัดทำขึ้นเพื่อสนับสนุนส่งเสริม ประยุกต์ และให้คุณค่าต่อวัตถุประสงค์ของอาเซียน มาตรฐานที่เกี่ยวข้อง และระบบการจัดการอย่างน้อยต่อไปนี้

(1) วัตถุประสงค์ของประชาคมอาเซียน 15 ประการ ตามกรอบของธรรมนูญ หรือกฎบัตรอาเซียน (ฉบับล่าสุด พ.ศ. 2550)

(2) มาตรฐานแรงงานตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศทั้ง 8 ฉบับหลัก และฉบับที่มีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต อาทิ มาตรฐานเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน (เช่น อนุสัญญาเกี่ยวกับสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ฉบับที่ 155, 161 และ 187) มาตรฐานเกี่ยวกับความมั่นคงทางสังคม (เช่น อนุสัญญาว่าด้วยความมั่นคงทางสังคม ฉบับที่ 102 และ ฉบับอื่นๆที่เกี่ยวข้อง) และ มาตรฐานเกี่ยวกับแรงงานอพยพ (เช่นฉบับที่ 21, 97 และ 143)

(3) มาตรฐานสากลของสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชน และการรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พ.ศ.2491 (The Universal Declaration of Human Rights on 10 December 1948) อนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุก รูปแบบ ค.ศ. 1979 อนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ.1989 รวมทั้งปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ (ปฏิญญาเซบู) พ.ศ. 2555 และคำประกาศสิทธิมนุษยชนของประชาชนอาเซียน พ.ศ. 2555

(4) มาตรฐานสากลว่าด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม (ISO 26000 – Social Responsibility)

(5) กฎหมายแรงงานสหภาพยุโรป (EU Labour Directive)

(6) ข้อกำหนดของมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2553) (Thai Labour Standard, TLS.8001-2010)

(7) ระบบการจัดการเพื่อบังคับใช้จรรยาบรรณทางธุรกิจที่กลุ่มอุตสาหกรรม หรือสถาบัน หรือ  องค์การกลางเฉพาะด้านต่าง ๆ ใช้ในระดับระหว่างประเทศของการผลิตและการค้า

(8) การสนับสนุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรฐานแรงงานอาเซียน โดยการจัดตั้งกลไกการบริหารมาตรฐานแรงงานอาเซียนร่วมกันของประเทศสมาชิกอา เซียน

4. ข้อกำหนด (Requirements)

4.1 การใช้แรงงานบังคับและการจ้างแรงงาน (Forced Labour, and Employment)

4.1.1 สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำหรือสนับสนุนให้มีการใช้แรงงานบังคับในทุกรูป แบบ รวมถึงแรงงานนักโทษ การค้ามนุษย์ การทำงานเพื่อใช้หนี้ และการกดขี่หรือการกักขังหน่วงเหนี่ยวให้ทำงาน

4.1.2 ลูกจ้างสามารถลาออกจากสถานประกอบกิจการได้หลังจากได้แจ้งเหตุผลเป็นลาย ลักษณ์อักษรให้นายจ้างทราบล่วงหน้าภายในระยะเวลาตามที่ตกลงกันไว้

4.1.3 ลูกจ้างมีสิทธิที่จะออกจากสถานประกอบกิจการหลังเวลาเลิกงานได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาต

4.1.4 สถานประกอบกิจการต้องไม่เรียกหรือรับหลักประกันการทำงาน หรือหลักประกันความเสียหายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเงินบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารประจำตัวใด ๆ ทรัพย์สินอื่น หรือการค้ำประกันด้วยบุคคลจากลูกจ้าง ไม่ว่าเข้าทำงานแล้ว หรือเป็นเงื่อนไขในการรับเข้าทำงาน เว้นแต่กฎหมายยกเว้นไว้

4.1.5 การจ้างงานทั้งประเภทที่กำหนดเวลาแน่นอน และที่ไม่กำหนดเวลา ให้ดำเนินการโดยทำเป็น   สัญญาจ้างที่เป็นลายลักษณ์อักษร

4.1.6 สัญญาจ้างให้ประกอบด้วยข้อความอย่างน้อยต่อไปนี้

(1) การเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาจ้างงาน (กรณีการจ้างกำหนดเวลาแน่นอน)

(2) การเริ่มต้นและการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า (หากจะเลิกจ้าง) (กรณีการจ้างไม่กำหนดเวลา)

(3) ตำแหน่งและขอบเขตงาน

(4) ชั่วโมงการทำงาน

(5) ระยะเวลาการทดลองงาน (ถ้ามี)

(6) ค่าตอบแทนและวิธีการจ่ายค่าตอบแทน

(7) ผลประโยชน์อื่น ๆ ของพนักงาน (หากมี)

4.2 ค่าตอบแทนการทำงาน (Remuneration)

4.2.1 สถานประกอบกิจการต้องจ่ายค่าจ้าง และค่าตอบแทนการทำงานนอก หรือเกินเวลาทำงานปกติให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ สำหรับประเทศที่ไม่มีการกำหนดอัตราค่าล่วงเวลา หรือไม่มีการกำหนดไว้ในข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ลูกจ้างจะต้องได้รับค่าล่วงเวลาในอัตราพิเศษ หรือเท่ากับอัตรามาตรฐานอุตสาหกรรมที่มีอยู่ทั่วไปที่จะเป็นประโยชน์แก่ ลูกจ้างมากกว่า

4.2.2 สถานประกอบกิจการต้องจ่ายค่าจ้างเพื่อเป็นค่าตอบแทนการทำงานเป็นเงินตราของ ประเทศสมาชิกอาเซียนที่ลูกจ้างทำอยู่ โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของลูกจ้าง หรือจ่ายเป็นเงินสด ณ สถานที่ทำงานของลูกจ้าง  ถ้าจะจ่ายเป็นตั๋วเงิน หรือเงินตราต่างประเทศ หรือด้วยวิธีอื่น ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน ทั้งนี้ให้จ่ายทันทีเมื่อถึงกำหนดการจ่ายแต่ละงวด และห่างกันงวดละไม่เกินหนึ่งเดือน

4.2.3 สถานประกอบกิจการต้องให้ลูกจ้างได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าตอบแทนและผล ประโยชน์ต่าง ๆ ในการทำงานที่ได้รับทั้งหมดในแต่ละงวดเป็นลายลักษณ์อักษร และสามารถเข้าใจ และซักถามรายละเอียดส่วนประกอบต่าง ๆ ได้

4.2.4 สถานประกอบกิจการต้องไม่หักค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนการทำงาน หรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง ไม่ว่ากรณีใด ๆ เว้นแต่กฎหมายยกเว้นไว้ หรือได้รับการยินยอมจากลูกจ้าง

4.2.5 สถานประกอบกิจการต้องปรับปรุง หรือทบทวนค่าจ้างประจำปีให้แก่ลูกจ้าง โดยพิจารณาจากผลการประกอบการ และผลการทำงานของลูกจ้าง

4.2.6 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีผลประโยชน์อื่น ๆ นอกเหนือค่าจ้าง หรือเงินค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้าง อาทิ สวัสดิการต่าง ๆ ทั้งที่เป็นตัวเงิน และไม่เป็นตัวเงิน และต้องปรับปรุงและเพิ่มเติมผลประโยชน์ดังกล่าวแก่ลูกจ้างในระยะเวลาอัน สมควร หรือปรับปรุงเมื่อลูกจ้างหรือตัวแทนองค์การของลูกจ้างร้องขอ และเป็นไปตามผลการตกลงร่วมกันระหว่างสถานประกอบกิจการกับตัวแทนลูกจ้าง

4.3 ชั่วโมงการทำงาน และการทำงานล่วงเวลา (Working Hours and Overtime)

4.3.1 สถานประกอบกิจการต้องกำหนดชั่วโมงการทำงานปกติของลูกจ้างไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือไม่เกินสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง และจัดให้มีวันหยุดอย่างน้อย 2 วัน ทุก ๆ วันทำงานติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน หรือเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

สถาน ประกอบกิจการอาจกำหนดชั่วโมงการทำงานปกติของลูกจ้างไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือไม่เกินสัปดาห์ละ 48 ชั่วโมง และจัดให้มีวันหยุดอย่างน้อย 1 วัน ของการทำงานติดต่อกันไม่เกิน 6 วัน โดยการอนุญาตของกฎหมาย หรือการอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบด้านแรงงาน หรือโดยการตกลงร่วมกันระหว่างสถานประกอบกิจการกับสหภาพแรงงาน หรือองค์การอื่นของลูกจ้าง ในกรณีไม่มีสหภาพแรงงาน

4.3.2 สถานประกอบกิจการต้องถือเป็นสิทธิของลูกจ้างในการทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุดสำหรับงานทั่วไป เว้นแต่งานที่กฎหมายยกเว้นไว้ โดยสถานประกอบกิจการต้องกำหนดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาและชั่วโมงการทำงานใน วันหยุดของลูกจ้างไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อเดือน หรือตามที่กฎหมายกำหนด

สถาน ประกอบกิจการอาจให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลา และการทำงานในวันหยุดเกินกว่า 48 ชั่วโมงต่อเดือน ได้ตามเหตุผลอันจำเป็น และต้องได้รับอนุญาตจากทางราชการก่อน หรือตามที่กฎหมายกำหนด

4.3.3 สถานประกอบกิจการจะต้องแจ้งให้ลุกจ้างทราบถึงจำนวนวันหยุดตามประเพณี และวันหยุดแห่งชาติ และสิทธิการลาหยุดเพื่อลากิจ ลาป่วย และจำนวนวันลาพักผ่อนประจำปีของลูกจ้าง และให้นายจ้างจ่ายค่าตอบแทนพิเศษหากลูกจ้างต้องทำงานในวันหยุดตามประเพณี หรือวันหยุดแห่งชาติ และในกรอบจำนวนวันลาพักผ่อนประจำปีดังกล่าว

4.4 การเลือกปฏิบัติ (Discrimination)

4.4.1 สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำ หรือสนับสนุนให้มีการเลือกปฏิบัติต่อคนทำงานที่เป็นพลเมืองของประเทศสมาชิก ประชาคมอาเซียนหรือนอกประชาคมอาเซียนก็ดี  ในการจ้างงานการจ่ายค่าจ้างและค่าตอบแทน การทำงาน การให้สวัสดิการ โอกาสได้รับการฝึกอบรมและพัฒนา การพิจารณาเลื่อนขั้นหรือตำแหน่งหน้าที่ การเลิกจ้าง หรือการเกษียณอายุการทำงาน และอื่น ๆ อันเนื่องมาจากเหตุเพราะความแตกต่างในเรื่องสัญชาติ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา อายุ เพศ ทัศนคติส่วนตัวในเรื่องเพศ ความพิการ การตั้งครรภ์ การสมรส การมีบุตร การติดเชื้อเอชไอวี การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน การเป็นกรรมการลูกจ้าง ความนิยมในพรรคการเมือง หรือแนวความคิดส่วนบุคคลอื่น ๆ

4.4.2 สถานประกอบกิจการต้องไม่ขัดขวาง แทรกแซง หรือกระทำการใด ๆ ที่จะเป็นผลกระทบต่อการใช้สิทธิของลูกจ้างที่ไม่มีผลเสียหายต่อกิจการ ในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวกับเชื้อชาติ ประเพณีประจำชาติ ศาสนา เพศ ความพิการ การตั้งครรภ์ การสมรสและการมีบุตร การเป็นกรรมการลูกจ้าง การเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหรือพรรคการเมือง และการแสดงออกตามทัศนคติส่วนบุคคลอื่น ๆ

4.4.3 การปฏิบัติใด ๆ เพื่อส่งเสริม หรือช่วยเหลือให้ลูกจ้างผู้เสียเปรียบ หรือถูกกีดกัน หรือถูกปิดกั้นโอกาสสามารถได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรม และอย่างเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ

4.5 วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ (Discipline, Penalty and Grievance)

4.5.1 สถานประกอบกิจการต้องไม่ลงโทษทางวินัยโดยการหักหรือลดค่าจ้างและค่าตอบแทน การทำงานหรือเงินอื่นที่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดให้จ่ายให้แก่ ลูกจ้าง

4.5.2 สถานประกอบกิจการต้องไม่กระทำการ หรือสนับสนุน ให้ใช้วิธีการลงโทษทางร่างกาย ทางจิตใจหรือกระทำการบังคับ ขู่เข็ญ ทำร้ายลูกจ้าง

4.5.3 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีข้อบังคับเกี่ยวกับการร้องทุกข์ ที่ลูกจ้างสามารถร้องทุกข์ได้เมื่อมีปัญหา หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน หรือการสั่งการของผู้บังคับบัญชา และประกาศให้ลูกจ้างทราบอย่างเปิดเผย

4.5.4 สถานประกอบกิจการต้องมีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเพื่อมิให้ลูกจ้างถูก ล่วงเกินคุกคาม หรือได้รับความเดือดร้อนรำคาญทางเพศ โดยการแสดงออกด้วยคำพูด ท่าทาง การสัมผัสทางกาย หรือด้วยวิธีการอื่นใดและต้องดำเนินการระงับ แก้ไข และเยียวยา โดยไม่ล่าช้าหากมีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น

4.6 การใช้แรงงานเด็กและเยาวชน (Child Labour and Young Worker)

4.6.1 สถานประกอบกิจการต้องไม่ว่าจ้าง หรือสนับสนุนให้มีการว่าจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เว้นแต่การจ้างงานเบา ๆ ที่เป็นธุรกิจในครอบครัว และกำกับการทำงานโดยบิดามารดา หรือผู้ปกครองที่ถูกกฎหมาย

4.6.2 สถานประกอบกิจการสามารถจ้างแรงงานเยาวชน อายุ 15-18 ปี เข้าทำงานได้ โดยทำงานเบาและตามที่กฎหมายกำหนด

4.6.3 สถานประกอบกิจการต้องไม่จ้างงานที่เลวร้ายในทุกรูปแบบต่อแรงงานเด็ก หรือเยาวชนตามที่กฎหมายกำหนด

4.6.4 สถานประกอบกิจการต้องไม่ให้ หรือไม่สนับสนุนให้แรงงานเยาวชนทำงานเกินกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน และที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยหรืออยู่ในสภาวะแวดล้อม และในระหว่างช่วงเวลาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัย รวมทั้งตรงกับช่วงเวลาที่ต้องเข้าเรียนหนังสือในโรงเรียนตามที่กฎหมายกำหนด

4.7 การใช้แรงงานหญิง (Female Worker)

4.7.1 สถานประกอบกิจการต้องไม่ให้ลูกจ้างหญิงทำงานที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือร่างกายตามที่กฎหมายกำหนด

4.7.2 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ทำงาน หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัย และความปลอดภัยต่อการมีครรภ์ รวมทั้งต้องไม่เลิกจ้าง ลดตำแหน่ง หรือลดสิทธิประโยชน์เพราะเหตุจากการมีครรภ์

4.7.3 สถานประกอบกิจการต้องอนุญาตให้ลูกจ้างหญิงที่คลอดบุตร ได้ดูแลบุตร และรักษาพยาบาลตนเอง 90-180 วัน โดยได้รับค่าจ้างเต็มอย่างน้อย 90 วัน และกรณีการแท้งบุตรโดยธรรมชาติ ให้ลูกจ้างหญิงได้รับสิทธิลาหยุดโดยได้รับค่าจ้างเต็มตามระยะเวลาที่แพทย์ ผู้ดูแลกำหนด แต่ไม่เกิน 30 วัน

ในกรณีที่ลูกจ้างลางานหลังคลอดบุตร นานเกินกว่า 90 วัน ลูกจ้างอาจได้รับค่าจ้างตามจำนวนที่ตกลงกับสถานประกอบกิจการ หรือตามที่กฎหมายกำหนด หรืออาจได้รับเงินส่วนเกินที่สถานประกอบกิจการไม่สามารถจ่ายให้ได้นั้นจาก กองทุนประกันสังคม หรือระบบการจ่ายเงินอื่นใดในความรับผิดชอบของรัฐบาล

ลูกจ้างชายมีสิทธิลากรณีอันเกี่ยวเนื่องกับการคลอดบุตรของภรรยา ทั้งก่อนหรือหลังคลอดได้อย่างน้อย 7 วันโดยได้รับค่าจ้าง

4.7.4 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้ลูกจ้างหญิงที่มีบุตรไม่เกิน 12 เดือนได้พักจากการทำงาน เพื่อป้อนนมบุตร หรือเก็บน้ำนม อย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน

4.8 แรงงานสัมพันธ์ (Industrial Relations)

4.8.1 สถานประกอบกิจการต้องเคารพสิทธิลูกจ้างในการรวมตัวจัดตั้ง หรือรวมตัวเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือคณะกรรมการอื่น ๆ ในสถานประกอบกิจการ อีกทั้งยอมรับการเป็นอิสระของสหภาพแรงงานในการร่วมเจรจาต่อรอง การคัดเลือก หรือเลือกตั้งผู้แทน โดยไม่กระทำการใด ๆ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขัดขวาง หรือแทรกแซงการดำเนินงานของสหภาพแรงงาน หรือการใช้สิทธิของลูกจ้าง

4.8.2 หากการรวมตัวถูกจำกัดด้วยกฎหมาย จะต้องมีช่องทาง หรือได้รับการยินยอมจากนายจ้าง ในการให้ดำเนินการโดยวิธีอื่นที่แสดงออกถึงความมีสิทธิเสรีภาพของลูกจ้างได้

4.8.3 สถานประกอบกิจการต้องมีมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกแก่ผู้แทนลูกจ้างในการ ปฏิบัติหน้าที่ ต่าง ๆ และต้องปฏิบัติต่อผู้แทนลูกจ้างโดยเท่าเทียมกับลูกจ้างอื่น ๆโดยไม่กลั่นแกล้ง โยกย้าย เลิกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ ที่ไม่เป็นธรรม

4.8.4 สถานประกอบกิจการต้องปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้างที่เกิดจากการเจรจาต่อรอง ร่วมระหว่างผู้แทนสหภาพแรงงานกับสถานประกอบกิจการ และไม่เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หรือข้อบังคับในการทำงานโดยไม่ได้เจรจาตกลงกับสหภาพแรงงาน หรือผู้แทนลูกจ้างโดยชอบตามกฎหมาย

4.8.5 กรณีที่เกิดข้อพิพาทแรงงานจากการยื่นข้อเรียกร้องและการเจรจาต่อรองร่วม ระหว่างผู้แทนสถานประกอบกิจการกับสหภาพแรงงาน หรือองค์การของลูกจ้าง ผู้ประกอบกิจการจะหลีกเลี่ยงการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก และการปิดกิจการให้มากที่สุด

4.8.6 สถานประกอบกิจการต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถานประกอบกิจการกับสหภาพ แรงงาน หรือองค์การอื่นใดของพนักงานในกรณีที่ไม่มีสหภาพแรงงาน ในการร่วมกันปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงาน อาทิ ในรูปคณะกรรมการความร่วมมือ การประชุมร่วมระหว่างผู้แทน         สถานประกอบกิจการกับสหภาพแรงงาน หรือองค์การของพนักงาน และการจัดกิจกรรมอื่น ๆ อย่างสม่ำเสมอ

4.9 ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (Occupational Safety, Health and Working Environment)

4.9.1 สถานประกอบกิจการต้องกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ครอบคลุมประเภทงาน หรือลักษณะงานที่มีแนวโน้มอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้าง และผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยมีการควบคุม ป้องกัน ให้เป็นไปตามกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัยในทุกสภาพแวดล้อมในการทำงาน

4.9.2 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย เพื่อป้องกันอันตราย และลดปัจจัยเสี่ยงตามกฎหมาย และมาตรฐานความปลอดภัยที่ทางราชการกำหนด

4.9.3 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้ลูกจ้างทุกคน

1) ได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมในการดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

2) ได้รับรู้และเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันอันตรายและอันตรายอันอาจเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงาน หรือจากสภาพแวดล้อมในการทำงาน

3) ได้รับรู้ และเข้าใจถึงกฎระเบียบข้อบังคับ และคู่มือด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของสถานประกอบกิจการ

4) ได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานในงานที่กำลังปฏิบัติอยู่ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าทำงานใหม่และผู้ที่เปลี่ยนหน้าที่

5) ได้ใช้อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยส่วนบุคคลที่ได้มาตรฐาน และเหมาะสมกับลักษณะงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

6) ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยจากการทำงาน หรือเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

7) ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วยนอกเหนือการทำงาน โดยสมทบเงินเพื่อสิทธิประโยชน์ทางการประกันสังคมตามที่กฎหมายกำหนด

4.10 ความมั่นคงทางสังคม และสวัสดิการ (Social Security and Welfares)

4.10.1 สถานประกอบการต้องจัดให้ลูกจ้างมีความมั่นคงทางสังคมที่ยั่งยืน อาทิ เข้าร่วมกองทุนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ ระบบการจัดการทางการเงินแบบอื่น ๆ อาทิ สหกรณ์ออมทรัพย์ และเครดิตยูเนียน

4.10.2 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้ลูกจ้างทุกคนได้รับสวัสดิการโดยสะดวก และมีปริมาณเพียงพอกับผู้ใช้บริการ ในเรื่องต่อไปนี้

1) ห้องน้ำ และห้องส้วม ที่สะอาด ถูกสุขอนามัย

2) น้ำดื่มสะอาด ถูกสุขอนามัย

3) สิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาล และการรักษาพยาบาลที่ได้มาตรฐานทางการแพทย์

4) สถานที่รับประทานอาหาร และสถานที่สำหรับเก็บรักษาอาหารที่สะอาด

4.10.3 กรณีที่มีการจัดที่พักให้ลูกจ้าง สถานประกอบกิจการต้องจัดให้มีปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็น มีความสะอาด ปลอดภัย มีระบบการป้องกันและระงับอัคคีภัย และพร้อมที่จะใช้การได้อยู่เสมอ โดยคำนึงถึงจำนวนผู้พักต่อห้องตามขนาดห้อง และการแยกชายหญิงด้วย

4.10.4 กรณีนายจ้างเป็นผู้กำหนดให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์ในการทำงาน รวมถึงให้ลูกจ้างใส่ยูนิฟอร์ม นายจ้างต้องจัดหาอุปกรณ์การทำงานและยูนิฟอร์มให้ลูกจ้างให้เพียงพอ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

4.10.5 สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างเกินกว่า 50 คน ต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อน หรือเด็กก่อนวัยเรียน (อายุไม่เกิน 7 ปี) ในสถานประกอบกิจการ หรือบริเวณใกล้เคียง โดยลูกจ้างไม่เสียค่าใช้จ่ายในการใช้สถานที่และบริการ เพื่อให้ลูกจ้างนำบุตรมาฝากเลี้ยงในช่วงเวลาทำงานในแต่ละวัน หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้สถานประกอบกิจการจ่ายเงินชดเชยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามสมควรแก่ ลูกจ้าง ตามที่ตกลงกันกับลูกจ้างหรือองค์การของลูกจ้าง (หากมี)

สถาน ประกอบกิจการที่ตั้งอยู่ในบางพื้นที่หรือในบางประเภทกิจการ อาจไม่ต้องจัดให้มีศูนย์เลี้ยงเด็กอ่อนหรือเด็กก่อนวัยเรียน เพราะเหตุสภาพแวดล้อมอาจเป็นอันตรายต่อเด็ก ทั้งนี้ตามการอนุญาตของหน่วยงานรัฐบาลที่รับผิดชอบด้านแรงงาน โดยต้องจ่ายเงินชดเชยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวตามสมควรแก่ลูกจ้างตามที่ ตกลงกันกับลูกจ้างหรือองค์การของลูกจ้าง (หากมี)

4.11 ข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ (Information and Learning)

4.11.1 สถานประกอบกิจการต้องติดประกาศ หรือจัดให้ลูกจ้างทั่วไป และผู้แทนสหภาพแรงงาน หรือองค์กรของลูกจ้างได้ทราบ และสอบถามข้อสงสัยถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน และข้อบังคับในการจ้างงานในสถานที่ที่เปิดเผย และเข้าถึงได้สะดวก

4.11.2 สถานประกอบกิจการต้องจัดให้ผู้แทนลูกจ้างในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมาย อาทิ คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ ได้รับการเรียนรู้เกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาการทำงานของคณะกรรมการเหล่านั้นอย่างน้อย ปีละ 1 ครั้ง

4.12 ความรับผิดชอบต่อชุมชน และสังคม (Community and Social Responsibility)

4.12.1 สถานประกอบกิจการจะต้องจัดให้มีระบบการจัดการป้องกันไม่ให้เกิดมลภาวะจาก สถานประกอบกิจการสู่สิ่งแวดล้อมและชุมชนที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ และพร้อมต่อการรับผิด และเยียวยาแก่ผู้เสียหาย หากมีมลภาวะอันไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเกิดขึ้น

4.12.2 สถานประกอบกิจการจะต้องจัดให้มีกระบวนการจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการจำหน่ายสินค้าที่ได้คุณภาพมีความโปร่งใส และรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ชุมชน และสังคม ให้ได้ใช้สินค้าหรือบริการของตนที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม สากลหรือตามที่กฎหมายกำหนด

4.12.3 สถานประกอบกิจการจะจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน และการพัฒนาสังคม และจะให้ความร่วมมือ และส่งเสริมให้สหภาพแรงงาน หรือองค์การของลูกจ้างจัด หรือเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและการพัฒนาสังคม

 

ขบวนการแรงงานไทยกับการยกระดับมาตรฐานแรงงานอาเซียน

สำหรับขบวนการแรงงานไทย ซึ่งมีวิวัฒนาการการเคลื่อนไหวมากว่า 100 ปีแล้วนั้น เมื่อวาระการสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียนมาถึง อันจะเป็นสิ่งท้าทายต่อการร่วมรับผิดชอบและการสำแดงศักยภาพของขบวนการแรงงานไทยเป็นอย่างยิ่งในอนาคตด้วยนั้น ขบวนการแรงงานไทย ซึ่งประกอบด้วยสหภาพแรงงาน องค์การคนทำงานในรูปแบบอื่นๆ องค์การพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน พรรคการเมือง นักวิชาการ และเครือข่ายแรงงานต่างๆ เป็นต้น สมควรพิจารณาดำเนินการยกระดับมาตรฐานแรงงานสำหรับประชาคมอาเซียนดังต่อไปนี้

  1. เสริมสร้างความรู้สึกและความเป็นจริงที่สหภาพแรงงานและแรงงานทั้งมวลมีความเป็นเจ้าของมาตรฐานแรงงานที่จะใช้ร่วมกันในประชาคมอาเซียน โดยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยภายของขบวนการแรงงาน
  2. พิจารณาศึกษาและปรับปรุงร่างมาตรฐานแรงงานอาเซียนในบทความนี้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ให้การศึกษาแก่ผู้ทำงานอย่างทั่วถึง และขยายผลให้เกิดรูปธรรมของการนำไปปฏิบัติอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
  3. จัดตั้งกลไกความร่วมมือในขบวนการแรงงานเพื่อรับผิดชอบงานด้านมาตรฐานแรงงานสำหรับอาเซียน และทำงานประสานทั้งภายในและระหว่างประเทศ
  4. ติดตามการนำเอามาตรฐานแรงงานในอุตสาหกรรมต่างๆที่มีอยู่อย่างหลากหลายไปใช้อย่างเทียบเคียงระหว่างกันและสร้างสรรค์ให้เกิดความก้าวหน้าและได้ผลมากยิ่งขึ้น
  5. ดำเนินการควบคู่กับการส่งเสริมาตรฐานแรงงานในทางการค้า ด้วยการสนับสนุนให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศให้มากที่สุด โดยไม่จำเป็นต้องเป็นอนุสัญญาหลัก 8 ฉบับเท่านั้น โดยควรรวมถึงอนุสัญญาเกี่ยวกับความมั่นคงทางสังคม สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน และแรงงานข้ามชาติ เป็นต้น ด้วย
  6. ร่วมมือกับรัฐและขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคในการนำเอามาตรฐานแรงงานไปพิจารณาซื้อสินค้าและบริการของบริษัทหรือผู้ผลิตและให้บริการต่างๆที่เชื่อมโยงกันเป็นลูกโซ่
  7. ส่งเสริมให้รัฐธรรมนูญไทยมีบทบัญญัติที่สนับสนุนต่อการยกระดับมาตรฐานแรงงานทั้งในประเทศและการร่วมมือระหว่างประเทศ อันมีประเด็นประชาธิปไตยในการทำงานรวมอยู่ด้วย

 

รัฐไทยกับการยกระดับมาตรฐานแรงงานอาเซียน

ในส่วนประเทศไทยในฐานะสมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียนซึ่งพัฒนามาเป็นประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน รัฐบาลไทยและหน่วยงานของรัฐจึงสมควรแสดงบทบาทนำในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานอันเป็นประชาชนที่เป็นกำลังสำคัญที่สุดในระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยพิจารณาดำเนินการต่อไปนี้

  1. รัฐบาลไทยจำเป็นต้องใส่ใจต่อการยกระดับมาตรฐานแรงงานเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชนของตนควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ โดยประกาศให้เป็นพันธผูกพันร่วมกับพันธกรณีกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง อันรับรองโดยรัฐธรรมนูญและการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายลูก และระเบียบกฎเกณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. สมควรที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจะปรับปรุงร่างมาตรฐานแรงงานอาเซียนที่นำเสนอ ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นไปอีก โดยการมีส่วนร่วมของผู้แทนองค์การต่าง ๆ ของฝ่ายผู้ประกอบกิจการ แรงงาน สถาบันการศึกษา องค์การพัฒนาเอกชน และ หน่วยงานราชการอื่น ๆ
  3. สมควรนำเสนอร่างมาตรฐานแรงงานอาเซียนให้ที่ประชุมรัฐบาลสมาชิกประชาคมอาเซียนรับรอง และ มีมติจัดตั้งกลไกการดำเนินงานสำคัญคือ คณะกรรมการมาตรฐานแรงงานแห่งอาเซียน และคณะกรรมการบริหารมาตรฐานแรงงานของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีผู้แทนของรัฐบาล ผู้ประกอบกิจการ แรงงาน เป็นองค์การหลัก และ การมีส่วนร่วมจากสถาบันการศึกษา และองค์การพัฒนาเอกชน    ในคณะกรรมการดังกล่าว
  4. มาตรฐานแรงงานอาเซียนควรใช้เป็นแบบบังคับแก่สถานประกอบกิจการในประชาคมอาเซียน   แต่อาจดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่อ่อนไหวต่อต้นทุนการผลิต แต่ในระยะเวลาที่ไม่นานเกินกว่า 5 ปี นับจากการเริ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างเป็นทางการในสิ้นปี 2558 มาตรฐานแรงงานดังกล่าวควรได้รับการปฏิบัติอย่างสมบูรณ์ในทุกสถานประกอบกิจการ
  5. ประชาคมอาเซียนสมควรมีมาตรการสนับสนุนให้มาตรฐานแรงงานอาเซียนเป็นจริง อาทิ การจัดตั้งสถาบันและกองทุนส่งเสริมมาตรฐานแรงงานอาเซียน เพื่อจะได้มีองค์การและเงินทุนสำหรับการส่งเสริมและประยุกต์มาตรฐานแรงงานอาเซียนสู่การปฏิบัติจริง และนำเงินส่วนหนึ่งของกองทุนมาให้รางวัล หรือใช้เพื่อจูงใจให้สถานประกอบกิจการ องค์การของแรงงาน องค์การพัฒนาเอกชน และหน่วยงานของรัฐ ปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานอาเซียนอย่างเต็มที่และในเชิงสร้างสรรค์ การส่งเสริมให้ขบวนการสหภาพแรงงาน และ ขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีกิจกรรมส่งเสริมมาตรฐานแรงงานอาเซียนต่อพลเมืองอาเซียนอย่างทั่วถึง รวมทั้งการส่งเสริมให้ประเทศสมาชิกให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับต่างๆ  ที่จะเกี่ยวข้องถึงกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานอพยพทั้ง 2 ฉบับ คือ ฉบับที่ 97 และ ฉบับที่ 143 เป็นต้น
  6. ประเทศไทยควรให้สัตยาบันอนุสัญญาหลักที่ค้างอยู่ทั้ง 3 ฉบับคือ ฉบับที่ 87 (เสรีภาพ       ในการสมาคม) ฉบับที่98 (การนำหลักการเจรจาต่อรองร่วมไปปฏิบัติ) และ ฉบับที่111 (การเลือกปฏิบัติ) โดยเร็วเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม และทำให้สิทธิแรงงาน  ในบรรดาพลเมืองอาเซียนเป็นปัจจัยสนับสนุนการบรรลุวัตถุประสงค์อาเซียน และการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับประชาคมอาเซียนที่เต็มรูปแบบ โดยใส่ใจว่าประเทศสมาชิกอาเซียนถึง 3 ประเทศได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 8 ฉบับครบแล้วคือ ประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ และกัมพูชา
  7. ในการเติมเต็มวัตถุประสงค์ต่างๆของประชาคมอาเซียน ประเทศไทยควรปรับปรุงกฎหมายแรงงาน และมาตรฐานแรงงานไทยในหลายประการให้ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล โดยอย่างน้อยใช้ประโยชน์จากร่างมาตรฐานแรงงานอาเซียนที่พัฒนาขึ้นตามที่เสนอในบทความนี้ จากมาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม SA 8000 ฉบับล่าสุด ค.ศ. 2014 และจากกฎหมายแรงงานของประเทศสมาชิก ที่ก้าวหน้ากว่าประเทศไทย เป็นต้น และโดยประสานความร่วมมือจากผู้ประกอบการและขบวนการแรงงานให้เกิดขึ้นอย่างเป็นจริง

 

สรุป

การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอาเซียน อันเป็นการเติมเต็มวัตถุประสงค์การจัดตั้งประชาคมอาเซียนนั้น ในวิถีทางหนึ่งก็คือการอาศัยมาตรฐานแรงงานกลางสำหรับอาเซียน ที่พึงใช้ร่วมกันในสมาชิกทั้ง 10 ประเทศ (ในปัจจุบัน)

ในส่วนของ (ร่าง) มาตรฐานแรงงานอาเซียน อันเป็นมาตรฐานกลางตัวอย่างเพื่อการค้าในเขตประชาคมเซียนและภายนอกประชาคมอาเซียนทั้ง 12 หัวข้อ (อันครอบคลุมถึง การใช้แรงงานบังคับและการจ้างแรงงาน ค่าตอบแทนการทำงาน ชั่วโมงการทำงาน และการทำงานล่วงเวลา การเลือกปฏิบัติ วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ การใช้แรงงานเด็กและเยาวชน การใช้แรงงานหญิง แรงงานสัมพันธ์ ความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ความมั่นคงทางสังคม และสวัสดิการ ข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ และความรับผิดชอบต่อชุมชน และสังคม ตามข้อ 4.1 - 4.12) นั้น อย่างน้อยก็สามารถพัฒนาขึ้นได้จากมาตรฐานแรงงานสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาตรฐาน SA8000 และ กติกาอื่นๆ แต่จะสามารถนำไปใช้และยกระดับให้ก้าวหน้ามากขึ้นมากน้อยเพียงใดก็โดยการมีบทบาทของขบวนการแรงงานและรัฐเป็นสำคัญ

ในวาระการฉลองวันแรงงานสากลและวันแรงงานแห่งชาติประจำปี 2559 ข้าพเจ้าจึงเห็นเป็นโอกาสว่าความรู้สึกและความเป็นจริงที่สหภาพแรงงานและองค์ประกอบของขบวนการแรงงานทั้งมวล ซึ่งเป็นแกนกลางของอานิสงค์แห่งมาตรฐานแรงงาน ได้มีความเป็นเจ้าของมาตรฐานแรงงานที่จะใช้ร่วมกันในประชาคมอาเซียนพึงจะช่วยกันทำให้เกิดขึ้นอย่างสำคัญ และอย่างเป็นประชาธิปไตย อันจะช่วยให้มาตรฐานแรงงานกลางทางการค้าดำเนินไปควบคู่กับมาตรฐานแรงงานของ ILO ที่สมาชิกประชาคมอาเซียนมีพันธะผูกพันร่วมกัน และที่จะให้สัตยาบันและนำไปประยุกต์ในทางที่เป็นจริง การทำงานของขบวนการแรงงานร่วมกับขบวนการคุ้มครองผู้บริโภคจึงสำคัญยิ่ง และรัฐเองก็พึงช่วยเสริมสร้างความร่วมมือจากผู้ประกอบการกับขบวนการแรงงานให้เกิดขึ้นในเรื่องนี้อย่างเป็นจริงเพื่อสร้างสรรค์ประชาคมอาเซียนในที่สุดร่วมกันด้วย

 

อ้างอิง:

  1. ฉบับปรับปรุงหลังการจัดประชาพิจารณ์ของผู้แทนหน่วยงานราชการ ผู้ประกอบการ สหภาพแรงงาน และองค์การพัฒนาเอกชน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2557 โดยเนื้อหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยในโครงการเสริมสร้างระบบมาตรฐานแรงงานสู่ประชาคมอาเซียน (2558) ของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่ผู้เขียนเป็นที่ปรึกษา และขอขอบคุณกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานผู้สนับสนุนทุนวิจัยเพื่อการสร้างสรรค์งานให้กับประชาคมอาเซียนเป็นอย่างยิ่งไว้ ณ โอกาสนี้
  2. อ้างจากกฎบัตรอาเซียนฉบับครบรอบ 40 ปี ของการก่อตั้งประชาคมอาเซียน (พัฒนามาจากสมาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ณ ประเทศสิงคโปร์

 

เอกสารอ้างอิง (References)

  • กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน (2558) รายงานวิจัยโครงการเสริมสร้างระบบมาตรฐานแรงงานสู่ประชาคมอาเซียน.
  • โชคชัย สุทธาเวศ “มาตรฐานแรงงาน + การค้าโลก = การจูบปากกันของลัทธิสหภาพแรงงานกับทุนนิยม?” หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์, วันที่ 27 มกราคม 2547, หน้า 3.
  • ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ ค.ศ. 1948.
  • ปฏิญญาไตรภาคีว่าด้วยหลักการที่เกี่ยวข้องกับกิจการบรรษัทข้ามชาติ และนโยบายทางสังคมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ค.ศ. 2000.
  • ปฏิญญาว่าด้วยความยุติธรรมทางสังคมเพื่อโลกาภิวัตน์ที่เป็นธรรมขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ค.ศ. 2008.
  • มาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพ (ISO 9001).
  • มาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม ISO 26000.
  • มาตรฐานแรงงานไทย (TLS.8001 - 2010).
  • มาตรฐานความรับผิดชอบทางสังคม SA 80000 (2014).
  • หลักปฏิบัติว่าด้วยผู้ป่วย HIV / AIDS ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ค.ศ. 2001.
  • อนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29, 87, 98, 100, 105, 111, 135, 138, 155, 164, 177 และฉบับที่ 182 รวมถึงข้อแนะขององค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 146 และ 164.
  • อนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ค.ศ. 1979.
  • อนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989.

 

หมายเหตุ:

ชื่อบทความเดิม: การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอาเซียน: ข้อพิจารณาจากมาตรฐานแรงงานอาเซียน กับ บทบาทของขบวนการแรงงาน และรัฐ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net